วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

การบริหารโรงเรียนคุณภาพ

การศึกษาของไทยตามแผนการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรกจะเห็นได้ว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเพราะสิบปีของการปฏิรูปการศึกษาที่ทำมา บอกชัดเจนถึงเป้าหมายที่ไม่บรรลุผล แทบทุกเรื่อง คุณภาพที่ต่ำลง เป็นเรื่องน่าใจหายอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาของเด็กไทย ซึ่งจะเป็นทรัพยากรบุคคลของชาติ ฉะนั้นขณะนี้จึงมีการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 เกิดขึ้นเพื่อหวังว่าจะได้พัฒนาการศึกษาของไทยให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งสาระของการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 เป็นดังนี้
สาระสำคัญของข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552 - 2561)
· วิสัยทัศน์ คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ
· เป้าหมาย ภายในปี 2561 มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประเด็นหลักสามประการ คือ
1. คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย โอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียน สถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม หลักสูตรและเนื้อหา พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่งดีและมีใจรักมาเป็นครูคณาจารย์ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
2. เพิ่มโอกาสการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม ในการบริหารและจัดการศึกษา โดยเพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษาด้วย
· กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา มีการปฏิรูปการศึกษาและเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดย 1. พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ที่มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
2. พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ ที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่ง คนดี มีใจรักในวิชาชีพครูมาเป็นครู
3. พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับ/ประเภทให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและพัฒนาแหล่งเรียนรู้อื่นๆ สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย
4. พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชนและทุกภาคส่วน มีระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล
จากวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กรอบแนวทางในการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 ของรัฐบาลดังกล่าวข้างต้น ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษามีความคาดหวังที่จะเห็นการศึกษาของคนไทยและสังคมไทยมีคุณภาพเป็นสถานศึกษาที่ให้บริการทางการศึกษาที่สนองตอบต่อความต้องการของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมีการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีสภาพแวดล้อม บรรยากาศ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข จึงต้องมีการพัฒนาโรงเรียนในหลาย ๆ ด้านโดยอาศัยหลักและทฤษฎีการบริหารมาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปและทำโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพเพื่อสนองตอบตรงตามหลักการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2
โรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนที่เปิดสอนในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ตามหลักสูตรพณิชยกรรม สาขาวิชาพณิชยการ โดยมีวิสัยทัศน์ พันธกิจ ของโรงเรียน ดังนี้

วิสัยทัศน์ (Vision)
พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ บริหารแบบมีส่วนร่วม สร้างครูมืออาชีพ พัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี ใฝ่คุณธรรม สัมพันธ์กับชุมชนและภาคีเครือข่าย

พันธกิจ (Mission)
สร้างทีมบริหารที่มีคุณภาพอย่างมือและทำโรงเรียนคุณภาพ ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีระบบ รู้จักการคิดวิเคราะห์ มีความสามารถด้านเทคโนโลยี มีคุณธรรม รักษ์วัฒนธรรมไทย สร้างการยอมรับและสัมพันธ์อันดีกับชุมชน ใช้ระบบการประกันคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงาน
วิธีการในการปฏิรูปกระบวนการบริหารของโรงเรียนเพื่อเป็น โรงเรียนคุณภาพ ตรงตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ ของโรงเรียนและ การปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2

กลยุทธ์หลักด้านต่าง ๆ ที่ควรต้องมีการปฏิรูป
1. สร้างพลังขับเคลื่อนให้โรงเรียนมีระบบบริหารจัดการที่ดี
2. พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้ เชิงบูรณาการ
3. สร้างเสริมศักยภาพบุคลากรของโรงเรียนทุกระดับให้เป็นมืออาชีพ
4. เพิ่มสมรรถนะของโรงเรียนและบุคลากรในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
5. สร้างภาคีเครือข่ายอุปถัมภ์ที่เข้มแข็ง กับชุมชน
การขับเคลื่อนกลยุทธ์ ใช้หลักการบริหารจัดการแบบ Balanced Scorecard เพื่อกำหนดผลสำเร็จอย่างสมดุลรอบด้าน


วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Objectives)

เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์
1. มีทักษะในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง
2. ใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้
3. มีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียนอย่างเป็นระบบ
4. มีความสามารถคิดสร้างสรรค์

มีทักษะการดำรงชีวิตมั่นใจในตนเอง
1. มีทักษะในการเรียนรู้
2. มีทักษะการจัดการตนเอง
3. มีความมั่นใจในตนเอง
4. มีทักษะทางสังคม
5. กล้าแสดงออก
6. มีคุณธรรม

มีความเป็นไทย นักเรียนมีความเป็นไทย มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สืบสานประเพณี ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

บูรณาการการเรียนรู้ในโรงเรียน
1. พัฒนาแหล่งเรียนรู้
2. วิจัยพัฒนาหลักสูตร
3. พัฒนาห้องปฏิบัติการ
4. พัฒนาห้องสมุด
5. หลักสูตรยืดหยุ่นสอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียน
6. สนับสนุนสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้
7. บูรณาการการเรียนรู้กับการดำรงชีวิต
8. มีผลงานคิดสร้างสรรค์ ใช้สื่อ ICT
9. นักเรียนรักการอ่าน การเรียนรู้

โรงเรียนธรรมาภิบาล โรงเรียนมีระบบบริหารจัดการที่ดีมีการสนับสนุนสื่อ-นวัตกรรม พัฒนาผู้บริหาร ปรับสภาพแวดล้อมบรรยากาศและวัฒนธรรมการปฏิบัติงานแบบกัลยาณมิตร ผนึกพลังสร้างสรรค์ ร่วมรับผิดชอบ มีเอกลักษณ์โดดเด่นโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานการพัฒนา

สร้างโอกาสดูแลช่วยเหลือ โรงเรียนให้บริการทางการศึกษาได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริมนักเรียนตามศักยภาพอย่างทั่วถึง เช่น พัฒนาประสิทธิภาพระบบดูแลช่วยเหลือนร. เทียบเคียงมาตรฐานระหว่างโรงเรียน สนับสนุนนวัตกรรม-สื่อพัฒนาทักษะ เทคนิค ประสานองค์กรวิชาชีพเสริมสร้างศักยภาพน.ร. จัดตั้งกองทุนอาหารกลางวัน เป็นต้น

ประกันคุณภาพ โรงเรียนมีระบบประกันคุณภาพที่เข็มแข็ง เพิ่มระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้สูงขึ้นเป็นที่ยอมรับของชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง ใช้ระบบเทียบเคียงมาตรฐานกับโรงเรียนต้นแบบหรือองค์กรอื่น

มืออาชีพ ครู ผู้บริหาร กรรมการสถานศึกษาบุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
1. ครูมีจิตวิญญาณความเป็น
2. พัฒนาหลักสูตร-การเรียนรู้เชิงบูรณาการ
3. ยกย่องเชิดชูเกียรติ
4. ใช้ ICTพัฒนางาน
5. ผู้บริหารเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
6. ระบบพี่เลี้ยง-ผู้เชี่ยวชาญการนิเทศ
7. ทักษะวิชาชีพ
8. คัดเลือก-เผยแพร่ผลงาน

E-School
1. จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ ICT
2. ใช้ระบบ ICT บริหารงานโรงเรียน
3. จัดทำโปรแกรมบริหารงานโรงเรียน
4. พัฒนาบุคลากรด้าน ICT
5. พัฒนาเว็บไซต์ที่มี Interaction
6. จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ ICT
7. พัฒนาระบบ E-Learning E- Office

ภาคีเครือข่าย โรงเรียนมีระบบเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญ พี่เลี้ยง ศึกษานิเทศก์ ชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

คุ้มค่า โรงเรียนมีทรัพยากรที่เหมาะสม ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล


แผนการดำเนินการเพื่อให้ยุทธศาสตร์ต่าง ๆสำเร็จ จะต้องมีการดำเนินการปฏิรูปกระบวนการบริหารในหลาย ด้าน ดังนี้
1. แผนพัฒนาระบบบริหารและการจัดการ
2. แผนพัฒนาคุณภาพนักเรียน และกระบวนการจัดการเรียนรู้
3. แผนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
4. แผนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
5. แผนพัฒนาระบบภาคีเครือข่ายอุปถัมภ์และทรัพยากรทางการศึกษา

แผนพัฒนาระบบบริหารและการจัดการ
1. ปรับระบบบริหารจัดการ
2. พัฒนาระบบประกันคุณภาพ
3. พัฒนาประสิทธิภาพระบบดูแลช่วยเหลือ นร.
4. นิเทศส่งเสริมคุณภาพ รร.
5. ติดตาม ประเมินผล รายงาน
6. วิจัย พัฒนารูปแบบ-นวัตกรรมโครงการ

แผนพัฒนาคุณภาพนักเรียน และกระบวนการจัดการเรียนรู้
1. พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
2. พัฒนาห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้
3. เสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิต
4. สืบสานศิลปวัฒนธรรมฯ

แผนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
1. พัฒนาครู
- ปฏิรูปการเรียนรู้, ICT, การเรียนรู้แบบบูรณาการ
2. พัฒนาผู้บริหาร
- ร.ร.ธรรมาภิบาล, พัฒนาหลักสูตร, ประกันคุณภาพ, ระบบดูแลช่วยเหลือ นร.

แผนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
1. พัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ ICT
2. พัฒนาระบบบริหารจัดการ ICT
3. ประสานงานพัฒนาเครือข่าย ICT

แผนพัฒนาระบบภาคีเครือข่ายอุปถัมภ์และทรัพยากรทางการศึกษา
1. พัฒนาระบบเครือข่ายฯ
2. สนับสนุนพี่เลี้ยง สช. และ สพท.
3. ช่วยเหลือ ร.ร.ในเครือข่าย
4. บริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน

การจะพัฒนาหรือปฏิรูปกระบวนการบริหารภายในโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ และสนองตามตามแผนการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการบริหารและการพัฒนาโรงเรียนอย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง ดังนั้นในการบริหารสถานศึกษา ผู้บริหารควรมีหลักและกระบวนการบริหาร ภาพรวมของการบริหารทั้งนี้เพื่อให้การจัดการบริหารสถานศึกษามีความเหมาะสมคำดังที่ผู้รู้ด้านการบริหารได้ให้ความหมายของการบริหารไว้ดังนี้ “การบริหาร”(Administration) ใช้ในความหมายกว้าง ๆ เช่น การบริหารราชการ อีกคำหนึ่ง คือ “ การจัดการ” (Management) ใช้แทนกันได้กับคำว่า การบริหาร ส่วนมากหมายถึง การจัดการทางธุรกิจมากกว่าโดยมีหลายท่านได้ระบุดังนี้

Peter F Drucker : คือ ศิลปะในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกับผู้อื่น
Herbert A. Simon :กล่าวว่าคือ กิจกรรมที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมมือกันดำเนินการให้บรรลุวัถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน
(ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ, 2542: 2) การบริหาร หมายถึง ศิลปะในการทำให้สิ่งต่าง ๆ ได้รับการกระทำจนเป็น ผลสำเร็จ กล่าวคือ ผู้บริหารไม่ใช้เป็นผู้ปฏิบัติ แต่เป็นผู้ใช้ศิลปะทำให้ผู้ปฏิบัติทำงานจนสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ผู้บริหารตัดสินใจเลือกแล้ว(Simon)
การบริหาร คือ กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ (Sergiovanni)
การบริหาร คือ การทำงานของคณะบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่รวมปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน (Barnard)
การบริหาร หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมมือกันดำเนินการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายๆอย่างที่บุคคลร่วมกันกำหนดโดยใช้กระบวนอย่างมีระบบและให้ทรัพยากรตลอดจนเทคนิคต่างๆ อย่างเหมาะสม (สมศักดิ์ คงเที่ยง
, 2542 : 1)
ส่วนคำว่า “การบริหารการศึกษา” หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลหลายคนร่วมกันดำเนินการ เพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมในทุกๆ ด้าน นับแต่ บุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ
เจตคติ พฤติกรรม คุณธรรม เพื่อให้มีค่านิยมตรงกันกับความต้องการของสังคม โดยกระบวนการต่างๆ ที่อาศัยควบคุมสิ่งแวดล้อมให้มีผลต่อบุคคล และอาศัยทรัพยากร ตลอดจนเทคนิคต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้บุคคลพัฒนาไปตรงตามเป้าหมายของสังคมที่ตนดำเนินชีวิตอยู่(ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ, 2542: 6)
คำว่า “สถานศึกษา” หมายความ ว่าสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ศูนย์การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ศูนย์การเรียน วิทยาลัย วิทยาลัยชุมชน สถาบันหรือสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและตามประกาศกระทรวง(พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, 2547 : 23)
การบริหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การบริหารเป็นสาขาวิชาที่มีการจัดการระเบียบอย่างเป็นระบบ คือมีหลักเกณฑ์และทฤษฎีที่พึงเชื่อถือได้ อันเกิดจาการค้นคว้าเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการบริหาร โดยลักษณะนี้ การบริหารจึงเป็นศาสตร์ (Science) เป็นศาสตร์สังคม ซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับวิชาจิตวิทยา สังคมวิทยา และรัฐศาสตร์แต่ถ้าพิจารณาการบริหารในลักษณะของการปฏิบัติที่ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และทักษะของผู้บริหารแต่ละคน ที่จะ ทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นการประยุกต์เอาความรู้ หลักการและทฤษฎีไปรับใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมการบริหารก็จะมีลักษณะเป็นศิลป์(Arts) ทั้งนี้การที่จะบริหารสถานศึกษาให้สำเร็จได้มี ปัจจัยสำคัญการบริหาร 4 อย่าง หรือ 4 Ms คือ
1. คน (Man)
2. เงิน (Money)
3. วัสดุสิ่งของ (Materials)
4. การจัดการ (Management)

...................................................

1 ความคิดเห็น:

  1. อยากทำวิจัย
    "รูปแบบโรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษาของไทย"

    shash

    ตอบลบ