โครงร่างการวิจัย
ชื่อเรื่องงานวิจัย การบริหารงานวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ชื่อผู้วิจัย นางประภาพันธุ์ แก้วโชติ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 ได้กล่าวเกี่ยวกับแนวทางในการจัดการศึกษาว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ จามมาตรานี้จะเห็นได้ว่า การจัดการศึกษาที่ดี อย่างเป็นระบบ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยพัฒนาด้าน สติปัญญา อารมณ์ และสังคม เพื่อให้ผู้เรียนได้มีการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ ฉะนั้นการบริหารงานการศึกษาด้านวิชาการของสถานศึกษาจึงมีความสำคัญ ดังเช่น อุทัย บุญประเสริฐ (2532 , หน้า 219 ) ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิชาการไว้ว่า งานวิชาการเป็นงานที่พิสูจน์ความสำเร็จขอสถานศึกษา หรือความสำเร็จของสถานศึกษาคือเด็กที่เป็นผลผลิตของโรงเรียนมีคุณภาพ และคุณสมบัติตามที่หลักสูตรกำหนด คือมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ มีความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่โรงเรียนกำหนด ดังนั้นหากโรงเรียนสามารถดำเนินการให้การเรียนการสอนบรรลุ วัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ก็แสดงว่าประสบความสำเร็จ ดังที่ ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535 , หน้า 15) ได้ยืนยันความสำคัญของงานวิชาการไว้ว่า งานวิชาการเป็นงานหลักของการบริหารสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาประเภทใด มาตรฐานและคุณภาพของสถานศึกษาจะพิจารณาได้จากผลงานด้านวิชาการ เนื่องจากงานวิชาการเกี่ยวข้องกับหลักสูตร การจัดโปรแกรมการศึกษาและการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นหัวใจของสถานศึกษาและเกี่ยวข้องกับผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทุกระดับของสถานศึกษา จากการแนวคิดดังกล่าวสรุปได้ว่า งานวิชาการเป็นหัวใจหลักของสถานศึกษาทุกแห่งผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องให้ความสนใจและสนับสนุนงานด้านวิชาการเป็นพิเศษ เนื่องจากผลสำเร็จของงานวิชาการจะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันถึงความสำเร็จในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาด้วย
โรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนเอกชนที่เปิดทำการสอนในระดับอาชีวศึกษาประเภทวิชาพาณิชยกรรม ตามหลักสูตรของกรมอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ที่ล็งเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาและมีความตระหนักถึงความสำคัญของงานวิชาการ และเห็นว่างานวิชาการเป็นหัวใจของการจัดการศึกษา เนื่องจากผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษาจะให้ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนหากสถานศึกษามีความเข็มแข็งและงานวิชาการมีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนที่เปิดทำการสอนในระดับอาชีวศึกษามีการแข่งขันสูงมากเนื่องจากจำนวนนักเรียนที่จะเข้าเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงลดลง อันเนื่องมาจากสาเหตุหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจที่ผู้ปกครองไม่สามารถรับภาระค่าธรรมเนียมการเรียนของโรงเรียนเอกชนที่มีอัตราสูงกว่าโรงเรียนรัฐบาล หรือนโยบายในการรับนักเรียน นักศึกษาของสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาของรัฐบาล และระดับอุดมศึกษาของรัฐ เป็นต้น ดังนั้นโรงเรียนจะต้องมีการบริหารจัดการด้านงานวิชาการให้มีความแตกต่างกับสถานศึกษาอื่น สามารถแข่งขัน และสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียน ผลิตนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี และมีคุณภาพ ประสิทธิภาพตามที่ตลาดแรงงานต้องการ
ผู้ศึกษาในฐานะที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้งานวิชาการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับ การบริหารงานหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การนิเทศการสอน และการวัดและประเมินผลการเรียน เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาปรับปรุงงานวิชาการของโรงเรียนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาในการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ขอบเขตของการวิจัย
ประชากร ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้บริหารและครูของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ที่สอนในปีการศึกษา 2552 โดยจำแนกเป็นผู้บริหาร 1 คน หัวหน้าสาขาวิชา 3 คน หัวหน้าหมวดวิชา 2 คน และครูผู้สอน 64 คน รวมทั้งสิ้น 70 คน
เนื้อหา การศึกษาครั้งนี้มุ่งศึกษาสภาพการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2552 ใน 4 ด้านด้วยกัน คือ การบริหารหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การนิเทศการเรียนการสอน และการวัดผลและการประเมินผล
นิยามศัพท์เฉพาะ
การบริหารงานวิชาการ หมายถึง การบริหารกิจกรรมทุกชนิดที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนการฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่กำหนดไว้
สภาพการบริหารงานวิชาการ หมายถึง สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารงานของผู้บริหาร ในโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ผู้บริหาร หมายถึง ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หัวหน้าสาขาวิชา หัวหน้าหมวดวิชา หัวหน้างาน ของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ครูผู้สอน หมายถึง ครูประจำวิชาต่างๆ ที่ได้รับมอบมายให้ทำหน้าที่ในการสอนในโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) หมายถึง หลักสูตรการเรียนการสอนที่รับผู้จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) หมายถึง หลักสูตรการเรียนการสอนที่รับผู้จบการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) หรือเทียบเท่าเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานวิชาการ ตลอดจนนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนางานด้านวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้ศึกษาเอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ ซึ่งผู้ศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษา ดังนี้
1. ความหมายและความสำคัญของการบริหารงานวิชาการ
2. ขอบข่ายของการบริหารงานวิชาการ
3. การบริหารหลักสูตร
4. การจัดการเรียนการสอน และการนิเทศการสอน
5. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
วิธีดำเนินการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจที่มุ่งจะศึกษาถึงการบริหารงานวิชาการของโรงเรียน
ศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้บริหาร 1 คน หัวหน้าสาขาวิชา 3 คน หัวหน้าหมวดวิชา 2 คน และครูผู้สอน 64 คน รวมทั้งสิ้น 70 คน ที่ทำการสอนในโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ ในปีการศึกษา 2552
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบสอบถามจำนวน 1 ฉบับ โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ
ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามมีลักษณะเป็นแบบสำรวจรายการ (Check List)
ตอนที่ 2 การบริหารงานวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ ทั้ง 4 ด้านคือ การบริหารหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การนิเทศการเรียนการสอน การวัดผลและการประเมินผล เป็นแบบประเมินมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนดังนี้
ปฏิบัติในระดับมาก = 3
ปฏิบัติในระดับปานกลาง = 2
ปฏิบัติในระดับน้อย = 1
ตอนที่ 3 เป็นคำถามแบบปลายเปิดเพื่อแสดงความคิดเห็น ปัญหา และข้อเสนอแนะในการ บริหารงานวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ทั้ง 4 ด้าน
ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือ
1. ศึกษาเอกสาร ตำรา และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
2 . สร้างเครื่องมือ
3. นำเครื่องมือไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความถูกต้อง
4. นำเครื่องมือมาปรับปรุง แก้ไข ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
5. นำแบบสอบถามไปใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
การเก็บรวบรวมข้อมูล
1. จัดทำหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
2. นำแบบสอบถามไปเก็บข้อมูลกับประชากร
3. นำแบบสอบถามที่ได้มาวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้
1. นำข้อมูลการศึกษามาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
2. นำเสนอข้อมูลโดยใช้แบบตารางประกอบคำบรรยายเป็นความเรียง
3. วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
4. แปลความหมายค่าเฉลี่ยเป็นรายข้อ ปรับปรุงจากเกณฑ์ของบุญส่ง นิลแก้ว (2541 , หน้า 146) ดังนี้
ค่าเฉลี่ย 2.50 – 3.00 หมายถึง มีการปฏิบัติในระดับ มาก
ค่าเฉลี่ย 1.50 – 2.49 หมายถึง มีการปฏิบัติในระดับ ปานกลาง
ค่าเฉลี่ย 2.50 – 3.00 หมายถึง มีการปฏิบัติในระดับ น้อย
สถานที่ทำการวิจัย
โรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ อำเภอ เมือง จังหวัด เชียงใหม่
ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย
มกราคม - เมษายน 2553
บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. (2544). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ: องค์การค้า
ของคุรุสภา.
กาญจนา เกียรติประวัติ . (2524) . วิธีสอนนทั่วไปและทักษะการสอน . กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช.
จิตราภรณ์ บุญยงค์. (2542) . การบริหารงานวิชาการของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัด กรมสามัญศึกษา
จังหวัดเชียงราย. การค้นคว้าอิสระ ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เจริญ ไวรวัจนกุล . (2523) . บริหารการศึกษา(ฉบับปรับปรุง) . กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
จรรยา ประพิณพงศา . (2550) . การบริหารงานวิชาการของโรงเรียนวชิรวิทย์ จังหวัดเชียงใหม่ . การค้นคว้าอิสระ ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
บุญส่ง นิลแก้ว. (2541). การวิจัยการศึกษา. ภาควิชาประเมินผลและการวิจัยการศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. (2535). การบริหารงานวิชาการ. กรุงเทพมหานคร : ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ.
วีนา หาญใจ. (2540) . แนวทางการพัฒนางานวิชาการของโรงเรียนดาราวิทยาลัย. การค้นคว้าอิสระ ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
วิจิตร ศรีสอ้าน . (2543) . หลักและระบบบริหารการศึกษา . กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
อุทัย บุญประเสริฐ . (2532) การวางแผนการศึกษา . กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อำภา บุญช่วย. (2537). การบริหารงานวิชาการในโรงเรียน. กรุงเทพมหานคร : โอเอสพริ้นติ้งเฮาส์.
วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น