บทที่ 2
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การบริหารงานวิชาการนับเป็นงานที่ถือเป็นหัวใจหลักในการบริหารโรงเรียน เนื่องจากงานวิชาการเป็นงานที่เน้นให้ผู้เรียนได้เกิดการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ การอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ดังนั้นผู้วิจัยจึงมุ่งที่จะศึกษาถึงสภาพและปัญหาในการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษา ดังนี้
1. ความหมายและความสำคัญของการบริหารงานวิชาการ
2. ขอบข่ายของการบริหารงานวิชาการ
3. การบริหารหลักสูตร
4. การจัดการเรียนการสอน และการนิเทศการสอน
5. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ความหมายและความสำคัญของการบริหารงานวิชาการ
การบริหารงานวิชาการเป็นงานสำคัญถือเป็นหัวใจหลักในการบริหารโรงเรียนของผู้บริหารที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ และการบริหารงานวิชาการในโรงเรียนนั้นมิใช่เฉพาะแต่เพียงงานการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงกิจกรรมทุกอย่างภายในโรงเรียนที่ก่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ อย่างมีประสิทธิภาพ ภิญโญ สาธร (2526 , หน้า 234) ได้ให้ความหมายของการบริหารงานวิชาการไว้ว่า เป็นการบริหารกิจกรรมทุกชนิดของโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการสอนนักเรียนให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วน อมรา เล็กเริงสินธุ์ (2540 , หน้า 175) ได้ให้ความหมายของงานวิชาการว่าหมายถึง กิจกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรและการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นงานหลักของโรงเรียนจนมีคำกล่าวว่า งานวิชาการเป็นหัวใจของการสถานศึกษา เพราะสถานศึกษาหรือโรงเรียนนั้นมีหน้าที่ให้ความรู้พื้นฐานเพื่อให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองดี ดังนั้นผลผลิตของโรงเรียนจะมีคุณภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับงานของฝ่ายวิชาการนี้ เช่นเดียวกับ ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535 , หน้า 16) ได้ให้ความหมายของการบริหารงานวิชาการไว้ว่า หมายถึง การบริหารสถานศึกษาโดยมีการจัดกิจกรรมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน
จากการที่นักการศึกษาทั้งหลายได้ให้ความหมายของการบริหารงานวิชาการไว้ดังกล่าว พอจะสรุปได้ว่าการบริหารงานวิชาการหมายถึง การบริหารกิจกรรมทุกชนิดของโรงเรียนที่เกี่ยวกับการจัดหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนเพื่อเป็นการปรับปรุงและพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อผู้เรียน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่หลักของผู้บริหารโรงเรียนที่จะต้องเป็นผู้นำ และสนับสนุนส่งเสริมให้งานวิชาการของโรงเรียนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนั้นนักการศึกษาหลายคนยังได้ให้ความสำคัญกับการบริหารงานวิชาการไว้ ดังนี้
นพพงษ์ บุญจิตราดุล(2547 , หน้า 21) ได้ให้ความสำคัญและเสนอแนะให้ผู้บริหารใช้เวลาในงานบริหารแต่ละประเภท ดังนี้
1. งานบริหารวิชาการ 40%
2. งานบริหารบุคคล 20%
3. งานบริหารกิจการนักเรียน 20%
4. งานสัมพันธ์กับชุมชน งานบริหารธุรการ การเงิน อาคารสถานที่บริเวณ
และงานบริการ 20%
ในขณะที่ ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535 , หน้า 15) ได้กล่าวว่างานวิชาการเป็นหลักของสถานศึกษาไม่ว่าสถานศึกษาจะเป็นประเภทใด มาตรฐานและคุณภาพของสถานศึกษาจะพิจารณาได้จากผลงานด้านวิชาการ เนื่องจากงานวิชาการเกี่ยวข้องกับหลักสูตร การจัดโปรแกรมการศึกษา การจัดการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นหัวใจของสถานศึกษา และเกี่ยวข้องกับผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทุกระดับ
ส่วนอุทัย บุญประเสริฐ (2530 , หน้า 129) ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิชาการว่าโรงเรียนที่ได้รับความสำเร็จทางด้านวิชาการ คือ นักเรียนที่เป็นผลผลิตของโรงเรียนมีคุณภาพและมีคุณสมบัติตามที่หลักสูตรกำหนด คือ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง หรือเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ จะทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียงและได้รับการยกย่อง
จากความคิดเห็นของนักการศึกษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า งานวิชาการเป็นหัวใจหลักของโรงเรียนเพราะโรงเรียนเป็นแหล่งที่ทำหน้าที่ให้การศึกษา ดังนั้นผู้บริหารและครูจะต้องให้ความสำคัญในงานวิชาการเป็นอันดับหนึ่งจากงานที่มีทั้งหมด จึงควรจัดกิจกรรมต่างๆ ให้สมดุลและส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อให้การศึกษาแก่ผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ และประสิทธิภาพ
ขอบข่ายการบริหารงานวิชาการ
งานวิชาการเป็นงานที่มีความสำคัญและถือเป็นภารกิจหลักของสถานศึกษา ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับการบริหารงานวิชาการ เข้าใจถึงการดำเนินงานวิชาการ และขอบข่ายของงานวิชาการตามบทบาทหน้าที่ของตนเพื่อที่จะได้บริหารงานให้ครอบคลุมงานต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนและเหมาะสม มีนักการศึกษาได้ให้ขอบข่ายการบริหารงานวิชาการไว้ ดังนี้
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535 , หน้า 17) กล่าวถึงขอบข่ายการบริหารวิชาการไว้ดังนี้
1. การวงแผนเกี่ยวกับงานวิชาการ เป็นการวางแผนเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ ได้แก่ การจัดทำแผนปฏิบัติงานวิชาการ การจัดทำโครงการสอน และบันทึกการสอน
2. การจัดดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียนการสอน ได้แก่ การจัดตารางสอน การกำหนดวิชา เวลา ผู้สอน ตลอดจนผู้เรียนแต่ละวิชา การจัดชั้นเรียน จัดแบบเรียน การปรับปรุงการเรียน การสอน และ การฝึกงาน เป็นต้น
3. การบริหารเกี่ยวกับการเรียนการสอน เป็นการจัดเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการจัดหลักสูตร และโปรแกรมการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัดสื่อการสอน การจัดห้องสมุด การนิเทศการสอน เป็นต้น
4. การวัดและประเมินผล เป็นกระบวนการเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในด้านการตรวจสอบและวิเคราะห์ผลการเรียน
ในขณะที่ เรือง เจริญศรี และเสรี ลาชโรจน์ ฤ2526 , หน้า 224) ได้กล่าวว่า งานวิชาการโรงเรียนควรแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. งานสอนและกิจกรรมนักเรียน
2. งานเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอน
3. งานวัดผลและประเมินผล
4. งานส่งเสริมวิชาการ
สำหรับ สายหยุด จำปาทอง (2526 , หน้า 3) ได้ให้แนวคิดไว้ว่างานวิชาการได้แก่ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการการเรียนการสอนส่วนใหญ่มุ่งเน้นหลักสูตร การจัดโปรแกรมการเรียนการสอน การจัดทำโครงการสอน การเตรียมการสอน สื่อการสอน ตลอดจนการติดตามประเมินผลการสอน
จากที่กล่าวมา พอจะสรุปได้ว่าขอบข่ายการบริหารงานวิชาการส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการเรียนการสอน การจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพตามมาตรฐานของสถานศึกษาที่ได้กำหนดไว้
การบริหารหลักสูตร
การบริหารงานวิชาการ ถือเป็นงานที่มีความสำคัญต่อผู้บริหารสถานศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีความรู้เข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องของหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ดังนี้
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535 , หน้า 40-41) กล่าวว่าหลักสูตรมีความหมาย 3 ประการคือ
1. หลักสูตรเป็นศาสตร์ที่มีทฤษฏี หลักการและการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนตามที่มุ่งหมายไว้
2. หลักสูตรเป็นระบบในการจัดการศึกษา โดยมีปัจจัยนำเข้า (Input) เช่น ครู นักเรียน วัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ กระบวนการ (Process) ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผลผลิต(Output) คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสำเร็จทางการศึกษา เป็นต้น
3. หลักสูตรเป็นแผนจัดการเรียนการสอน ที่มุ่งประสงค์จะอบรมฝึกฝนผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
ในขณะที่ อำนาจ จันทร์แป้น (2532 , หน้า 3) ได้วิเคราะห์ความหมายของหลักสูตรไว้ ดังนี้
1. หลักสูตรในฐานะเป็นเนื้อหาและวิชาเนื้อหาเป็นการมองว่าหลักสูตรเป็นวิชาและเนื้อหาวิชาที่ครูจะต้องสอนและนักเรียนจะต้องเรียน
2. หลักสูตรในฐานะที่เป็นประสบการณ์ ซึ่งหมายถึง ประสบการณ์ทั้งมวลที่ผู้เรียนได้รับภายใต้การแนะแนวของโรงเรียนทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นแผนของโอกาสการเรียน(แผนประสบการณ์) หลักสูตรที่สมบูรณ์จะต้องประกอบด้วยแผนการหรือเจตนารมณ์ ซึ่งจุดเน้นจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะที่จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ของหลักสูตร ได้แก่ การนำหลักสูตรไปใช้หรือการสอนและการประเมินผล
4. หลักสูตรเป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง ซึ่งการนำหลักสูตรไปใช้ต้องดำเนินการเป็นกระบวนการโดยตระหนักในความสำคัญของผู้เรียนและให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นให้มากที่สุด
ส่วน พนัส หันนาคินทร์ (ม.ป.ป , หน้า 116) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า เป็นประสบการณ์หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความเจริญขึ้นในส่วนของผู้เรียนประสบการณ์หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้นเพื่อนักเรียนนี้ย่อมเป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมนั้นที่เรียกว่า วัฒนธรรมของสังคมนั้น
จากความหมายของหลักสูตรที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พอสรุปได้ว่าหลักสูตรคือศาสตร์ในการบริหารงานด้านวิชาการที่จะจัดการวางแผน จัดประสบการณ์หรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และมีพฤติกรรมเป็นที่ปรารถนาในสังคม
องค์ประกอบของหลักสูตร
อำภา บุญช่วย (2537 , หน้า 18 -20) กล่าวว่าองค์ประกอบของหลักสูตรควรมี อย่างน้อย 4 อย่างซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร คือความมุ่งหมายของการศึกษานั่นเอง การกำหนดความมุ่งหมายของหลักสูตรเป็นการตอบคำถามว่า จะจัดการศึกษาเพื่ออะไร หรือในการจัดการศึกษานั้นต้องการให้ผู้ได้รับการศึกษามีคุณลักษณะอย่างไร โดยปกติการกำหนดจุดมุ่งหมายต้องคำนึงถึงปรัชญาของแต่ละสังคมเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้น
2. เนื้อหา คือสาระที่เป็นความรู้ที่ประมวลหรือรวบรวมมา เพื่อจัดอย่างมีระเบียบระบบให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามที่ต้องการ เนื้อหาสาระและความรู้ของแต่ละวิชาจะประกอบไปด้วยสิ่งที่เป็นข้อมูลหรือข้อเท็จจริง แต่ในการนำหลักสูตรไปใช้ก็ไม่ควรสอนเฉพาะเนื้อหาที่ควรรู้อย่างเดียว
3. การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง กระบวนการจัดกิจกรรมและประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ในการเลือกและการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรนั้นจะต้องรู้ว่า อะไรที่ควรจัดให้ผู้เรียน และอะไรที่จัดแทนกันได้บ้าง ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น ความแตกต่างระหว่างบุคคล ช่วงเวลาเรียน ความสนใจในวิชาที่เรียน ดังนั้น ในการจัดการเรียนการสอนจึงต้องคำนึงถึงผู้เรียนและควรให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมได้ลงมือกระทำเอง แสวงหาคำตอบด้วยตนเอง
4. การประเมินผล การประเมินผลขึ้นกับองค์ประกอบที่หนึ่ง คือ จุดมุ่งหมาย ถ้าไม่มีจุดมุ่งหมายก็ไม่สามารถประเมินผลได้ ในการประเมินผลจะต้องประเมินให้ได้ว่าประสบการณ์ทั้งหมดที่จัดให้แก่ผู้เรียนมีความยากง่าย ซ้ำซ้อน และจัดลำดับไว้เหมาะสมเพียงใด การประเมินผลควรง่าย และสะดวกต่อการเรียนการสอน มีแบบบันทึกที่เหมาะสมกับจุดมุ่งหมาย ซึ่งผลที่ได้จะเป็นข้อมูลย้อนกลับในการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรต่อไป
จากองค์ประกอบของหลักสูตรดังกล่าว จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถสร้างหลักสูตรของสถานศึกษาให้ครอบคลุม และดำเนินการนำหลักสูตรไปใช้ในสถานศึกษาให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียนและสถานศึกษา
การจัดการเรียนการสอน และการนิเทศการสอน
การจัดการเรียนการสอน เป็นกระบวนการที่สำคัญของการเรียนรู้ของผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในการใช้หลักสูตรเพราะเป็นกิจกรรมที่ใกล้ชิดกับผู้เรียน โดยครูเป็นผู้จัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียน โดยคำนึงถึงบรรยากาศ ความเหมาะสม
กมล ภู่ประเสริฐ (2535 , หน้า 152 ) กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอน หมายถึง การ
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
สำหรับ สุมิตร คุณากร (2518 , หน้า 137) มีความเห็นว่าการจัดการเรียนการสอน หมายถึง การกระทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาการไปตามเป้าหมายของหลักสูตรที่ต้องการ
ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจึงเป็นกระบวนการที่ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอนร่วมมือกันทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ ความสามารถจนมีประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่า เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของสังคม ด้วยเหตุนี้การเรียนการสอนจึงถือว่าเป็นภารกิจอีกประการหนึ่งที่โรงเรียนต้องให้ความสำคัญ
นอกจากนั้นกระบวนการในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรก็ยังมีความจำเป็นที่โรงเรียนต้องดำเนินการ ดังที่ กระทรวงศึกษาธิการ (2534 , หน้า 3) ได้เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังนี้
1. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการต่าง ๆ เพื่อจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จาการเรียนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน จะต้องฝึกให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง จนเกิดทักษะและความชื่นชมที่ได้ปฏิบัติ
2. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นตามเงื่อนไขและสภาพความต้องการของท้องถิ่นโดยประยุกต์เข้ากับสภาพปัญหา ความต้องการของท้องถิ่นหรือชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ในท้องถิ่นของตน และปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกพันกับท้องถิ่นของตน
3. การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อผู้เรียนให้มากที่สุดโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และฝึกให้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
ในขณะที่ ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535 , หน้า 90-91) ได้กล่าวถึงหลักในการเลือกวิธีการสอนควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. วัตถุประสงค์ของเรื่องที่ต้องการสอน การเลือกวิธีสอนต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์เพื่อจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
2. วิธีการสอนเหมาะสมกับเนื้อหาที่สอน เช่น เนื้อหาที่เป็นหลักการ หรือทฤษฏีสามารถใช้วิธีบรรยายและฝึกทักษะควบคู่กันไป
3. วิธีการสอนควรเหมาะสมกับความถนัดของผู้สอน เป็นความถนัดของผู้สอนที่จะสอนแบบนั้น
4. วิธีการสอนต้องเหมาะสมกับชั่วโมงสอนในหลักสูตร ข้อจำกัดของเวลาเป็นตัวกำหนดของวิธีการสอน
5. วิธีการสอนเหมาะสมกับจำนวนผู้เรียน และขนาดของห้องเรียน การสอนแบบบรรยายสามารถสอนผู้เรียนได้มากกว่าการสอนแบบอภิปราย
6. วิธีการสอนเหมาะสมกับผู้เรียน เช่น ความรู้เดิม ความสนใจเป็นข้อพิจารณาในการเลือกวิธีการสอนด้วย
การสอนเป็นภาระหน้าที่หลักของครูไม่ว่าจะเป็นการสอนในระดับใด ในด้านการสอนนั้นเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน จึงเรียกรวมกันว่า การเรียนการสอน การสอนนอกจากเป็นการให้วิชาความรู้ แล้วยังเป็นการฝึกประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน การสอนมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นระหว่างการสอน และขั้นประเมินผล ทฤษฏีการสอนจะทำให้ครูมีความเข้าใจเกี่ยวกับการสอนได้ดีขึ้น วิธีการสอนมีหลายวิธีแต่ละวิธีมีข้อดี ข้อจำกัด การเลือกวิธีสอนครูควรเลือกหลายๆ วิธีผสมผสานซึ่งมีหลักในการเลือกโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของเนื้อหาวิชา ความถนัดของผู้สอน ความต้องการของผู้เรียน เวลา จำนวนผู้เรียน และสื่อการสอน
กนก จันทร์ขจร (2532 , หน้า 217) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนว่า ครูที่ดีจะต้องหาวิธีการสอนแบบต่างๆ ไว้ล่วงหน้า พิจารณากำหนดกิจกรรมการสอนว่าจะทำอย่างไร จะอธิบายหรืออภิปราย จะแบ่งกลุ่มทำงาน หรือให้นักเรียนค้นคว้าอะไรอย่างไร ในแผนรายวิชาจะบอกไว้อย่างย่อ กิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้ ต้องหาวิธีการให้นักเรียนมีส่วนร่วม ได้ปฏิบัติกิจกรรมให้มากที่สุด ครูผู้สอนต้องวิเคราะห์เนื้อหา และจุดประสงค์การเรียนรู้ จัดหาสื่อ ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางกิจกรรมการเรียนการสอนและเรียนด้วยการปฏิบัติ ครูควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน ผู้กระทำเอง มาเป็นผู้ประสานกิจกรรมและชี้แนะให้นักเรียนปฏิบัติ
จากหลักการที่กล่าวมาสรุปได้ว่างานด้านการจัดการเรียนการสอน เป็นกิจกรรมที่มีความหลากหลาย เป็นกระบวนการใช้หลักสูตรที่ครูมีความใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด และเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่จะทำให้การดำเนินการศึกษาเป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนด โดยเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนจะต้องปรึกษาหารือและวางนโยบายร่วมกับครูผู้สอน และมีเป้าหมายของการปรับปรุงการเรียนการสอน การจัดครูเข้าสอน การให้บริการครูในด้านสื่อการสอน วัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมในการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
สำหรับการนิเทศการเรียนการสอนเป็นการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนของครู จุดประสงค์ของการนิเทศ ก็คือเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษาของนักเรียน และเพื่อลดการสูญเปล่าทางการศึกษา การนิเทศการเรียนการสอนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในระบบการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณารวมถึง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านวิชาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการใหม่ ๆ และนำไปปรับปรุงการเรียนการสอนให้ก้าวทันพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการนิเทศการสอนไว้ ดังนี้
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535 , หน้า 261) ได้ให้ความหมายของการนิเทศการศึกษาไว้ว่า กระบวนการจัดบริหารการศึกษาเพื่อชี้แนะ ให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือกับครูและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ส่วนการนิเทศภายในสถานศึกษานั้น หมายถึง การนิเทศที่มีการริเริ่มและจัดดำเนินการโดยบุคลากรภายในสถานศึกษา และในหลายโอกาสก็เชิญบุคลากรภายนอกเป็นวิทยากรร่วมโครงการ
ส่วน จรัส โพธิศิริ (2523 , หน้า 113) กล่าวว่า การนิเทศการศึกษา (Educational Supervision) หมายถึง ความพยายามทุกชนิดที่บุคลากรทางการศึกษาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นิเทศการศึกษา ในการแนะนำครูหรือบุคลอื่นที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาให้รู้จักวิธีปรับปรุงการสอนหรือให้การศึกษา การนิเทศการศึกษามาช่วยให้เกิดความงอกงามในวิชาชีพทางการศึกษา ช่วยพัฒนาครู ช่วยในการเลือกและปรับปรุงวัตถุประสงค์ของการศึกษา ช่วยเลือกและปรับปรุงเนื้อหาของกานสอน ช่วยเหลือและปรับปรุงวิธีสอน และช่วยเลือกวิธีการปรับปรุงการประเมินผลการสอน
ขณะที่ สุกานดา ตปนียางกูร (2539 , หน้า 4-5) ได้กล่าวไว้ว่า การนิเทศงานวิชาการภายในโรงเรียนหมายถึง กระบวนการในการทำงานที่บุคลากรในโรงเรียนร่วมมือกันคิดขึ้น จัดขึ้นในการพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะและเจตคติที่ดีในการปฏิบัติงานวิชาการ เพื่อพัฒนาพฤติกรรมการปฏิบัติงานของครู อันจะส่งผลให้มีการจัดการศึกษาของโรงเรียนมีคุณภาพสูงขึ้น
อำภา บุญช่วย (2537 , หน้า 111) กล่าวเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการนิเทศภายในโรงเรียนดังนี้
1. เพื่อช่วยให้ทราบถึงสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของโรงเรียนทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนางานบริหารและงานวิชาการ
2. เพื่อให้ครูได้จัดประสบการณ์ให้กับนักเรียนได้ถูกต้องตามจุดหมายที่วางไว้
3. เพื่อให้ครูได้ตระหนักถึงปัญหาในการจัดประสบการณ์ ทั้งให้สามารถแก้ปัญหาได้
4. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม ให้กำลังใจแก่ครูผู้สอน
5. เพื่อมุ่งให้เกิดความร่วมมือ และประสานงานในด้านการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
6. เพื่อควบคุมมาตรฐาน และพัฒนางานในด้านการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าการนิเทศการสอนเป็น งานสำคัญในการบริหารงานวิชาการ เพราะเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนการเรียนการสอนภายในโรงเรียนให้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ครูได้รับการปรับปรุง และพัฒนางานในหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น อันจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการเรียนการสอนภายในโรงเรียนและผู้บริหารสถานศึกษามีบทบาทต่อการนิเทศภายในโรงเรียนเพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารจึงทำหน้าที่ทั้งบริหารและนิเทศจึงถือได้ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์ในฐานะนักบริหาร
การวัดผลและการประเมินผล
ในด้านความหมายการวัดและการประเมินผล ได้มีนักวิชาการทางการศึกษาไว้หลายความหมายและจะเห็นได้ว่าการวัดผลประเมินผลมีความเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นผู้บริหารโรงเรียนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเรียนการสอนจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวัดผลและประเมินผล
อำภา บุญช่วย (2537, หน้า 129) กล่าวว่า การวัดผลและประเมินผลการเรียน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นกระบวนการที่ตรวจสอบว่านักเรียนได้ถึงจุดหมายปลายทางตามที่หลักสูตรต้องการหรือไม่เพียงใดผลจากการวัดผลและประเมินผลจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ครูผู้สอนได้นำไปพิจารณาหาวิธีแก้ไขข้อบกพร่องและจุดอ่อนในด้านต่างๆ ๆด้ ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการวัดและประเมินผล รวมทั้งให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจังอีกด้วย
พนัส หันนาคินทร์ (ม.ป.ป , น้า 138) กล่าวว่า การวัดผล (Measurement) หมายถึง การเปรียบเทียบผลที่ได้จากการเรียนกับมาตรฐานอันหนึ่งที่ยึดถืออยู่ การวัดผลมีลักษณะเป็นรูปธรรม กล่าวคือเรามักแสดงผลออกของการวัดออกมาเป็นตัวเลข เพื่อแสดงว่านักเรียนมีความรู้มากน้อยเพียงใดจากการที่ได้เรียนไปแล้ว สำหรับการประเมินผล (Evaluation) เป็นการกำหนดค่าหรือราคา (Value Judgment) จากคะแนนที่เราได้จากการวัดผลนั้น เช่นเก่งหรือไม่เก่ง ดีหรือไม่ดี เป็นต้น
สำหรับ ภัทรา นิคมานนท์ (2532 , หน้า 18) ได้กล่าวว่า การวัดผลคือ การใช้เครื่องมือหรือเทคนิควิธีเพื่อไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะที่ต้องการวัด ซึ่งมีทั้งข้อมูลปริมาณและคุณภาพส่วนการประเมินผล คือการนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากการวัดผลพิจารณาตัดสินเปรียบเทียบเพื่อหาข้อสรุปตัดสินใจ
ในเรื่องเดียวกัน นิพนธ์ กินาวงศ์ (2533 , หน้า 72) กล่าวว่า การวัดผลประเมินผลเป็นกิจกรรมที่ทำควบคู่กัน โดยปกติการประเมินผลในโรงเรียนมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการคือ การประเมินเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน และการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียน
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผล
ไพศาล หวังพานิช ได้สรุปประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลไว้ดังนี้
1. ด้านการเรียนการสอน
1.1 ประโยชน์ต่อนักเรียน
1.1.1 ทำให้รู้ระดับความสามารถในแต่ละด้านของตน
1.1.2 ทำให้รู้สิ่งบกพร่องที่ตนเองต้องรีบแก้ไข
1.1.3 ช่วยในการเลือกโปรแกรมวิชาเรียน
1.1.4 ได้รับการซ่อมเสริมข้อบกพร่องต่าง ๆ
1.1.5 ทำให้รู้ระดับความงอกงามในการเรียนของตน
1.1.6 ทำให้รู้ระดับความสามารถของตนเอง
1.1.7 ทำให้ตื่นตัวในการเรียน
1.2 ประโยชน์ต่อครูผู้สอน
1.2.1 ช่วยให้รู้พื้นความรู้ของนักเรียน
1.2.2 ช่วยกำหนดจุดเริ่มต้นของการสอน
1.2.3 ทำให้ทราบความก้าวหน้าของผลการเรียน
1.2.4 ทำให้ทราบความเด่น – ด้อยของนักเรียนและช่วยแก้ไขข้อบกพร่องได้ตรงจุด
1.2.5 ช่วยในการจัดกลุ่มนักเรียน เลือกวิธีสอน และจัดกิจกรรมการสอนได้เหมาะสม
1.2.6 ทำให้ทราบคุณภาพการสอนของตน
1.2.7 ช่วยในการรายงานผลการเรียนแก่ผู้ปกครอง
2. ด้านการแนะแนว
2.1 ช่วยให้วินิจฉัยความสามารถของนักเรียนแต่ละคน
2.2 ช่วยให้รู้รายละเอียด ปัญหา ข้อบกพร่องของนักเรียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการให้คำแนะนำปรึกษาทั้งด้านการเรียน และอาชีพ
2.3 ช่วยในการสำรวจความถนัดและความสนใจของของนักเรียน
2.4 ช่วยให้ผู้สอน ผู้บริหาร ผู้ปกครอง เห็นปัญหาต่าง ๆ ของนักเรียน เพื่อร่วมือกันหาทางแก้หรือส่งเสริมลักษณะของนักเรียน
3. ด้านการบริหาร
3.1 ช่วยในการสอบคัดเลือกคือคัดสรรนักเรียน
3.2 ช่วยให้รู้สถานภาพทางการศึกษาที่แท้จริงของสถานศึกษา
3.3 ทำให้เห็นข้อบกพร่องต่าง ๆ ในด้านการเรียนการสอนที่ควรแก้ไขปรับปรุง
3.4 ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ ของสถานศึกษา
3.5 ใช้เป็นข้อมูลสำหรับรายงานผลให้ผู้บริหารการศึกษา และประชาชนทราบ
3.6 ใช้เป็นข้อมูลสำหรับงานแนะแนวของสถานศึกษา
3.7 ก่อให้เกิดการวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของสถานศึกษา
4. ด้านการวิจัย
4.1 ทำให้เห็นปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน การบริหารที่ควรจะศึกษาหาความจริงเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา
4.2 ทำให้ได้ข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้วิเคราะห์ผลในกระบวนการวิจัย
5. ด้านผู้ปกครอง
5.1 ทำให้ผู้ปกครองทราบความเจริญงอกงามของเด็กตนว่าเป็นอย่างไร
5.2 เพื่อช่วยเตรียมการสนับสนุนในการเรียนต่อ หรือการเลือกอาชีพ
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการวัดผลและประเมินผล เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ถือว่าเป็นกิจกรรมทางวิชาการที่สำคัญ ซึ่งเป็นการเรียบเทียบผลการเรียนที่ได้จากการเรียนรู้กับมาตรฐานอันหนึ่งที่ยึดอยู่ซึ่งเป็นรูปธรรม ที่จะทำให้ทราบว่าการดำเนินการจัดการเรียนการสอนนั้นบรรลุความมุ่งหมายที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด มีปัญหาอุปสรรคและข้อบกพร่องอย่างไร และนำข้อบกพร่องเหล่านั้นมาเป็นแนวทางแก้ไขปรับปรุงต่อไป
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ในการศึกษาที่เกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการ ได้มีผู้วิจัยในเรื่องการบริหารด้านวิชาการในโรงเรียนไว้หลายคน ซึ่งผู้วิจัยพอจะนำมาเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้า ดังนี้
วัฒนา มโนจิตร (2540) ได้ศึกษาการปฏิบัติงานวิชาการในโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ พบว่า งานหลักสูตรและนำหลักสูตรไปใช้ที่ได้ปฏิบัติ 3 อันดับแรก ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกชั้นจัดทำแผนการสอน กำหนดการสอน มีการเตรียมเอกสารและหลักสูตรคู่มือครูให้เพียงพอกับความต้องการ และมีการแนะนำให้ครูใช้แผนการสอนเป็นหลักในการสอน ในส่วนด้านการเรียนการสอน สำหรับครูผู้สอนมีความเห็นว่างานด้านการเรียนการสอนที่ปฏิบัติมา 3 อันดับแรก ได้แก่ มีการเตรียมการสอนโดยใช้แผนการสอน เอกสารคู่มือครู เป็นแนวทางในการจัดทำบันทึกแผนการสอน จัดให้มีการสอนซ่อมเสริมนักเรียนที่มีปัญหาอย่างสม่ำเสมอ และมีการแนะนำชี้แจงให้เห็นประโยชน์ของสื่อการเรียนการสอน งานด้านการเรียนการสอนครูผู้สอนมีความคิดเห็นว่าที่ได้ปฏิบัติงานมาใน 3 อันดับแรก ได้แก่ การชี้แจงทำความเข้าใจ กับครูผู้สอนเกี่ยวกับการนิเทศภายในโรงเรียน มีการส่งเสริมให้ครูประเมินผลการปฏิบัติตนเอง และมีการชี้แจงโครงการนิเทศให้แก่ครูทราบก่อนการปฏิบัตินิเทศ ส่วนงานด้านการวัดผลประเมินผลที่ได้ปฏิบัติมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ การกำหนดเวลาในการวัดผลประเมินผลระหว่างภาคเรียน ปลายภาคเรียน และตลอดภาคเรียนมีการสนับสนุนให้ครูได้จัดสร้างข้อสอบ สนับสนุนให้โรงเรียนมีเครื่องมือวัดผลและประเมินผล รวมทั้งข้อสอบไว้ใช้ทุกระดับ
สำหรับ ทองคำ บัวอินทร์ (2541) ได้ศึกษาสภาพการดำเนินงานวิชาการของโรงเรียนสังกัดสำนักงานประถมศึกษา อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย พบว่า มีการส่งเสริมให้ครูพัฒนาหลักสูตรให้มีความสอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมมากที่สุด ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน มีการส่งเสริมให้ครูมีการเตรียมการล่วงหน้า และการจัดบรรยากาศการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ด้านการนิเทศการศึกษา ได้ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการตามแผน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการนิทศภายในอีกด้วย
ส่วน อัมพร ฟุ้งเฟื่อง (2541) ได้ศึกษาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองเชียงราย พบว่า ในการบริหารงานวิชาการโรงเรียนดังกล่าวได้มีการกำหนดเป้าหมายและการวางแผนชัดเจนมีความพร้อมในเรื่องหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ การจัดการเรียนการสอนตรงตามหลักสูตร มีสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่อง วัสดุการเรียนการสอนตลอดจนการส่งเสริมการนำไปใช้ มีห้องสมุดเป็นสัดส่วน มีกิจกรรมการนิเทศเพื่อช่วยปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนของครู รวมทั้งมีการวัดผลประเมินผลสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและเนื้อหาของหลักสูตร
นอกจากนี้ เสาวคนธ์ โอภาสสถิรกุล (2536) ได้ศึกษา สภาพการบริหารงานวิชาการ ในโรงเรียนปรินส์รอยเยลส์วิทยาลัย ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานวิชาการด้านต่าง ๆ ดังนี้คือ ครูบางส่วนไม่เข้าใจเรื่องหลักสูตร ครูไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนการสอนเนื่องจากเคยชินกับการปฏิบัติแบบเดิม ครูไม่ชำนาญในการเขียนแผนการสอนและไม่ปฏิบัติตามแผนการสอน การซ่อมเสริมยังไม่มีประสิทธิภาพ ครูไม่มีเวลาในการสอนซ่อมเสริมเพราะได้รับมอบหมายให้ทำกิจกรรมพิเศษต่าง ๆของโรงเรียน ครูขาดบ่อย การเบิกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ไม่คล่องตัว ห้องโสตทัศนูปกรณ์ไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ให้บริการไม่คล่องตัว ครูขาดความรู้ทักษะในการวัดผลประเมินผลในแผนก ครูไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการนิเทศ ขาดการนิเทศครูอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง การแนะแนวบริการไม่ครอบคลุม งานซ่อมบำรุงอาคารล่าช้า และโรงเรียนมีกิจกรรมมากเกินไป
ขณะที่ จำนง สมควร (2545) ได้ศึกษาการปฏิบัติงานวิชาการในโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานประถมศึกษา อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย พบว่า การปฏิบัติงานเกือบทุกงานเกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิชาการในโรงเรียน พบว่าส่วนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติได้แก่ ประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานที่วางไว้ ประเมินผลการนำหลักสูตรไปใช้ ประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน จัดทำสื่อการสอน การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้จากสภาพจริง ประเมินผลการดำเนินงานห้องสมุด จัดทำแผนการใช้ห้องสมุด กำหนดบทบาทของผู้นิเทศไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนการสอน ขาดแคลนงบประมาณ ไม่มีการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง หนังสือห้องสมุดมีไม่เพียงพอ ขาดแคลนผู้ทำหน้าที่บรรณารักษ์ และนิเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ในทำนองเดียวกัน เทียม วันมหาชัย (2545) ได้ศึกษาการปฏิบัติงานวิชาการของโรงเรียนฮอดพิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ในการจัดการเรียนการสอนของครูได้แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้แก่ผู้เรียนทุกครั้ง จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ และเตรียมเนื้อหาได้เหมาะสมกับสภาพความพร้อมของผู้เรียน ส่วนที่ไม่ได้ปฏิบัติ คือ เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดแผนการเรียน ประดิษฐ์นวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาการเรียน ไม่มีบุคคลภายนอกมาช่วยจัดการเรียนการสอน
ส่วน วารุณี โพธาสินธุ์ (2542) ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริหารงานวิชาการของผู้บริหารโรงเรียน สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ครูผู้สอนเห็นว่าผู้บริหารโรงเรียนมีพฤติกรรมการบริหารงานวิชาการที่แสดงออกถึงทักษะการบริหาร ดังนี้ ทักษะด้านความคิดรวบยอดที่ปฏิบัติได้ คือ การส่งเสริมให้ครูจัดทำสื่อการเรียนการสอน ในทางตรงกันข้ามไม่ได้ปฏิบัติคือ การจัดให้มีการนิเทศภายในอย่างเป็นระบบและไม่แน่ใจ คือ วิเคราะห์จุดมุ่งหมายของหลักสูตร เพื่อนำมาปรับแผนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น ส่วนทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ที่ได้ปฏิบัติ คือ ยกย่องผลงานของครูที่ประสบผลสำเร็จ ในทางตรงกันข้ามไม่ได้ปฏิบัติ คือ การเชิญวิทยากรหรือผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นมาให้ความรู้แก่นักเรียน ไม่แน่ใจ คือ สนใจปัญหาและความต้องการของครู และทักษะด้านเทคนิควิธีที่ได้ปฏิบัติ คือ การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนและครูเป็นปัจจุบัน ในทางตรงกันข้ามไม่ได้ปฏิบัติ คือ ประเมินผลโครงการนิเทศภายในทุกครั้ง ไม่แน่ใจ คือ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้หลักสูตรได้อย่างถูกต้อง
จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ว่าการบริหารงานด้านวิชาการของโรงเรียนต่าง ๆ มีความสำคัญเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ มีความรู้ และคุณธรรม ซึ่งสถานศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารงานวิชาการในบางประเด็นอีกทั้งยังพบว่าบางสถานศึกษามีปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานวิชาการ เช่น การนิเทศภายในสถานศึกษา ครูไม่เห็นความสำคัญของแผนการสอน หรือยังขาดความรู้ความเข้าใจในการทำแผนการสอน โรงเรียนยังไม่สามารถจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นได้อย่างถูกต้อง ผู้ปกครองมีส่วนร่วมน้อย ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ของแต่ละโรงเรียนมีความคล้ายคลึงกัน และสามารถใช้เป็นแนวทางในการที่แต่ละโรงเรียนจะนำไปปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาโรงเรียนของตนให้มีประสิทธิภาพด้านงานวิชาการ ดังนั้นการบริหารงานวิชาการจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญของงานวิชาการ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น