บทที่ 1
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 ได้กล่าวเกี่ยวกับแนวทางในการจัดการศึกษาว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ จามมาตรานี้จะเห็นได้ว่า การจัดการศึกษาที่ดี อย่างเป็นระบบ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยพัฒนาด้าน สติปัญญา อารมณ์ และสังคม เพื่อให้ผู้เรียนได้มีการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ ฉะนั้นการบริหารงานการศึกษาด้านวิชาการของสถานศึกษาจึงมีความสำคัญ ดังเช่น อุทัย บุญประเสริฐ (2532 , หน้า 219 ) ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิชาการไว้ว่า งานวิชาการเป็นงานที่พิสูจน์ความสำเร็จขอสถานศึกษา หรือความสำเร็จของสถานศึกษาคือเด็กที่เป็นผลผลิตของโรงเรียนมีคุณภาพ และคุณสมบัติตามที่หลักสูตรกำหนด คือมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ มีความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่โรงเรียนกำหนด ดังนั้นหากโรงเรียนสามารถดำเนินการให้การเรียนการสอนบรรลุ วัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ก็แสดงว่าประสบความสำเร็จ ดังที่ ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535 , หน้า 15) ได้ยืนยันความสำคัญของงานวิชาการไว้ว่า งานวิชาการเป็นงานหลักของการบริหารสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาประเภทใด มาตรฐานและคุณภาพของสถานศึกษาจะพิจารณาได้จากผลงานด้านวิชาการ เนื่องจากงานวิชาการเกี่ยวข้องกับหลักสูตร การจัดโปรแกรมการศึกษาและการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นหัวใจของสถานศึกษาและเกี่ยวข้องกับผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทุกระดับของสถานศึกษา จากการแนวคิดดังกล่าวสรุปได้ว่า งานวิชาการเป็นหัวใจหลักของสถานศึกษาทุกแห่งผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องให้ความสนใจและสนับสนุนงานด้านวิชาการเป็นพิเศษ เนื่องจากผลสำเร็จของงานวิชาการจะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันถึงความสำเร็จในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาด้วย
โรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนเอกชนที่เปิดทำการสอนในระดับอาชีวศึกษาประเภทวิชาพาณิชยกรรม ตามหลักสูตรของกรมอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ที่ล็งเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาและมีความตระหนักถึงความสำคัญของงานวิชาการ และเห็นว่างานวิชาการเป็นหัวใจของการจัดการศึกษา เนื่องจากผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษาจะให้ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนหากสถานศึกษามีความเข็มแข็งและงานวิชาการมีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนที่เปิดทำการสอนในระดับอาชีวศึกษามีการแข่งขันสูงมากเนื่องจากจำนวนนักเรียนที่จะเข้าเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงลดลง อันเนื่องมาจากสาเหตุหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจที่ผู้ปกครองไม่สามารถรับภาระค่าธรรมเนียมการเรียนของโรงเรียนเอกชนที่มีอัตราสูงกว่าโรงเรียนรัฐบาล หรือนโยบายในการรับนักเรียน นักศึกษาของสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาของรัฐบาล และระดับอุดมศึกษาของรัฐ เป็นต้น ดังนั้นโรงเรียนจะต้องมีการบริหารจัดการด้านงานวิชาการให้มีความแตกต่างกับสถานศึกษาอื่น สามารถแข่งขัน และสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียน ผลิตนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี และมีคุณภาพ ประสิทธิภาพตามที่ตลาดแรงงานต้องการ
ผู้ศึกษาในฐานะที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้งานวิชาการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับ การบริหารงานหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การนิเทศการสอน และการวัดและประเมินผลการเรียน เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาปรับปรุงงานวิชาการของโรงเรียนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาในการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ขอบเขตของการวิจัย
ขอบเขตด้านประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้บริหารและครูของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ที่สอนในปีการศึกษา 2552 โดยจำแนกเป็นผู้บริหาร 1 คน หัวหน้าสาขาวิชา 3 คน หัวหน้าหมวดวิชา 2 คน และครูผู้สอน 64 คน รวมทั้งสิ้น 70 คน
ขอบเขตด้านเนื้อหา
การศึกษาครั้งนี้มุ่งศึกษาสภาพการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2552 ใน 4 ด้านด้วยกัน คือ
1. การบริหารหลักสูตร
2. การจัดการเรียนการสอน
3. การนิเทศการเรียนการสอน
4. การวัดผลและการประเมินผล
นิยามศัพท์เฉพาะ
การบริหารงานวิชาการ หมายถึง การบริหารกิจกรรมทุกชนิดที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนการฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่กำหนดไว้
สภาพการบริหารงานวิชาการ หมายถึง สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารงานของผู้บริหาร ในโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ผู้บริหาร หมายถึง ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หัวหน้าสาขาวิชา หัวหน้าหมวดวิชา หัวหน้างาน ของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ครูผู้สอน หมายถึง ครูประจำวิชาต่างๆ ที่ได้รับมอบมายให้ทำหน้าที่ในการสอนในโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) หมายถึง หลักสูตรการเรียนการสอนที่รับผู้จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) หมายถึง หลักสูตรการเรียนการสอนที่รับผู้จบการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) หรือเทียบเท่าเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่
ประโยชน์ที่จะได้รับ
เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานวิชาการ ตลอดจนนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนางานด้านวิชาการของโรงเรียนศรีธนาพณิชยการเทคโนโลยี เชียงใหม่ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น